การใช้ยาและแอลกอฮอล์ มีผลต่อการขับขี่อย่างไร | Thai Drive Exam

การใช้ยาและแอลกอฮอล์ มีผลต่อการขับขี่อย่างไร

06/08/2020 | 5565

         สถิติคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดอันดับโลกนั้น แสดงว่าผู้ขับขี่ในประเทศไทยก็เสี่ยงต่อการดื่มสุราเช่นกัน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน อัตราการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะสูงมากแล้วยังก่อความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินทั้งของตนเองและผู้อื่น หลายครั้งพบว่าคู่กรณีของคนที่ดื่มสุรามักเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมที่ไม่น่าสูญเสีย ผลกระทบเหล่านี้วัดประเมินค่าเป็นจำนวนเงินไม่ได้แต่นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมที่มีค่ามากกว่าคำนวณเป็นต้นทุน

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

         “แอลกอฮอล์” มีฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ทำให้การทำงานของร่างกายช้าลง ประสาทตาจะ หย่อนสมรรถภาพ การรับรู้ภาพและเสียงช้าลงขอบเขตการมองเห็นแคบลง การเห็นภาพและคาดคะเนระยะทาง ผิดไปส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะทำให้ความ สามารถในการขับขี่ลดลงร้อยละ8 และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็น 2เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติหากระดับ แอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3เท่า พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2557 กำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ขับขี่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากเจ้าพนักงานตรวจพบหรือผู้ขับขี่ปฏิเสธไม่รับการตรวจ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาต 6 เดือนหรือ เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ ในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกิน50มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือเกินกว่าที่กฎหมาย กำหนดไม่มากนัก และผู้ที่ถูกตรวจไม่แน่ใจในผลการตรวจวัดฯ หรือคิดว่าตัวเองไม่เมาเหล้าถึงขนาดนั้น ผู้ที่ถูก ตรวจมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่จะร้องขอการตรวจพิสูจน์ได้โดยวิธีการตรวจจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจวัด ซึ่งการตรวจวัดนี้จะกระทำภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรมตามกฎหมาย

 

การใช้ยา

           “ยา”หลายชนิดมีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้เกิดอาการง่วงซึม เวียนศีรษะ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการขับขี่ลดลง นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุเทียบเท่ากับการดื่มแอลกอฮอล์แบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

1. ยาที่หาซื้อได้ทั่วไปที่มีผลทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลงอย่างรุนแรง ผู้ใช้ยานี้ควรงดการขับขี่โดย สิ้นเชิง เช่น ยาแก้แพ้ยาแก้เวียนศีรษะเมารถกลุ่ม (Dimenhydrinate) ผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม เวียนศีรษะ มึนงง มองไม่ชัด และผลนี้อาจยาวนานได้ถึง24ชั่วโมง ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ยาแก้แพ้Chlopheniramine (CPM) ยาแก้แพ้ชนิดที่ระบุว่า “ไม่มีอาการง่วง” แต่ยังพบผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ มึนงง มองเห็นไม่ชัด เช่น CetirizineหรือLoratadine ผู้ใช้ยานี้ควรงดเว้นการขับขี่

2. ยาที่แพทย์สั่ง ที่มีผลทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลงอย่างรุนแรง ผู้ใช้ยานี้ควรงดการขับขี่โดยสิ้นเชิง เช่น ยานอนหลับ ยารักษาโรคทางจิตเวช และยารักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิด ผลข้างเคียงกระทบ การทำงานของ ระบบประสาทอย่างมาก เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม ตาลาย มองเห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย โดยเฉพาะยากันชัก ผู้ใช้ยานี้ควรงดเว้นการขับขี่ ยารักษาโรคเบาหวาน โดยเฉพาะชนิดฉีด (อินซูลิน) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึง 2 เท่าจากปกติผลข้างเคียงที่รุนแรง หากผู้ป่วยฉีดยาเกินขนาดโดย ไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้รับประทานอาหารทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่น เวียนศีรษะกระวนกระวายใจสั่นง่วงซึมชักหรือหมดสติและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาในทางตรงกันข้าม หากผู้ป่วยฉีดยาต่ำกว่าขนาดที่แพทย์กำหนดหรือรับประทานอาหารหวานมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ซึ่งมีผลต่อการขับขี่ ผู้ป่วยที่เป็น เบาหวานชนิดฉีดอินซูลิน ควรงดการขับขี่โดยสิ้นเชิง

3. ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป ที่มีผลลดสมรรถนะในการขับขี่ ผู้ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ ได้แก่
    3.1 ยาลดกรด รักษาโรคกระเพาะบางชนิด เช่น Ranitidine ผลข้างเคียงคือ เวียนศีรษะ มึนงง ยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อรู้จักในชื่อยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดคลายเส้น โดยทั่วไปจะไม่มีผลข้างเคียงต่อการขับขี่ แต่จากการศึกษาพบว่ายาแก้ปวดบางชนิดมีผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ มึนงง อยู่ด้วย หรือยาแก้ปวด บางชนิดมียาแก้แพ้เป็นส่วนประกอบ
    3.2 ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของสารโคเดอีน หรือที่เรารู้จักกันในรูปของยาแก้ไอน้ำดำ เกิดผลข้างเคียงคล้ายกับ ยาแก้แพ้เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม มึนงง มองไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นหากรับประทานกับ ยาที่ให้ผลข้างเคียงคล้ายกัน เช่น ยาแก้แพ้หรือยานอนหลับ
    3.3 ยาแก้ปวดท้อง ยาลดกรด คลื่นไส้อาเจียน บางชนิดทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงงเวียนศีรษะ แตกต่างกัน ตามตัวยา โดยเฉพาะยาแก้ปวดท้อง (Hyoscine)ซึ่งพบผลข้างเคียงเหล่านี้ได้มากกว่ายาชนิดอื่น

4. ยาที่แพทย์สั่งบางชนิด มีผลรบกวนสมรรถนะในการขับขี่ ผู้ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยง การขับขี่ เช่น ยารักษา โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ ซึ่งประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มขยาย หลอดเลือด ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย กระวนกระวาย ยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืด มักเป็นยาพ่น ผลข้างเคียง เช่น หัวใจเต้นเร็วใจสั่น เวียนศีรษะ กระวนกระวาย ปวดเมื่อย และอ่อนเพลีย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามในการขับขี่หลังจาก ใช้ยานี้โดยตรง แต่ผู้ขับขี่ควรใช้ความระมัดระวัง พิจารณาสภาพร่างกายและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นของยาอย่าง รอบคอบก่อนการขับขี่

กล่าวโดยสรุป ผลข้างเคียงของยาหลายชนิดมีผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ

• ยาที่แพทย์สั่งเช่น ยานอนหลับ ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิด และยารักษา เบาหวานชนิดฉีด (อินซูลิน) มักมีผลข้างเคียงทางด้านระบบประสาทอย่างมาก เช่น เวียนศีรษะง่วงซึม ตาลาย มองเห็นภาพซ้อน อ่อนเพลีย โดยเฉพาะยากันชัก

• ผู้ที่ซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาแก้แพ้ทั่วไป ควรงดการขับขี่ยานพาหนะ โดยเด็ดขาดและระลึกไว้เสมอว่า ผลข้างเคียงของยาอาจอยู่นาน ถึง24ชั่วโมง

• ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา แก้ไอ แก้ปวดท้อง แก้ปวดกล้ามเนื้อคลายเส้น

• ผู้ขับขี่ที่รับประทานยาเป็นประจำตามคำสั่งแพทย์ที่ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เวียนศีรษะ มึนงง ควรหลีกเลี่ยง การขับขี่ในขณะรับประทานยาเหล่านี้